วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2562

ข่าว 7 วิจัยชี้ไม่พบ "ยีนเกย์" หน่วยพันธุกรรมเฉพาะที่ทำให้รักเพศเดียวกัน

      ผลการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมครั้งใหญ่กับกลุ่มประชากรเกือบ 5 แสนคนพบว่า "ยีนเกย์" หรือหน่วยพันธุกรรมซึ่งทำหน้าที่กำหนดให้มนุษย์มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันโดยเฉพาะนั้น เป็นเพียงความเชื่อล้าสมัยที่ไม่มีอยู่จริง
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติตีพิมพ์ผลการวิจัยข้างต้นในวารสาร Science โดยระบุว่าได้วิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมจำนวนมากที่ได้จากคลังข้อมูลชีวภาพของสหราชอาณาจักร (UK Biobank) และจากฐานข้อมูลของบริษัท 23andMe ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นธุรกิจรับตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอให้กับบุคคลทั่วไป
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลทางพันธุกรรมของกลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิงราว 4% ซึ่งบอกว่าเคยมีประสบการณ์ทางเพศกับเพศเดียวกันมาแล้ว กับข้อมูลทางพันธุกรรมของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่ากลุ่มที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันมีความผันแปรทางพันธุกรรมที่แตกต่างจากคนทั่วไป (genetic variations) ในยีนอย่างน้อย 5 ตัว
อย่างไรก็ตาม ยีนที่มีความผันแปรเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมรักเพศเดียวกันในทางอ้อมทั้งสิ้น เช่นเกี่ยวข้องกับการรับรู้กลิ่นและการผลิตฮอร์โมนเพศ แต่ไม่มียีนตัวไหนเลยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นคนรักเพศเดียวกันโดยตรง
ทีมผู้วิจัยประเมินว่า ยีนที่มีความผันแปรดังกล่าวมีโอกาสจะทำให้เกิดพฤติกรรมแบบชาวสีรุ้งได้เพียง 1% เท่านั้น และปัจจัยทางพันธุกรรมโดยรวมมีผลทำให้คนเป็นเกย์ได้อย่างมากเพียง 25% โดยยังมีปัจจัยทางชีวภาพและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เข้ามามีอิทธิพลร่วมด้วย คล้ายกับเรื่องของความสูงที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลากหลายนอกเหนือไปจากพันธุกรรม
รองศาสตราจารย์ เบ็น นีล จากสถาบัน Broad Institute ของเอ็มไอทีและมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หนึ่งในทีมผู้วิจัยกล่าวว่า "พันธุกรรมมีผลไม่ถึงครึ่งในเรื่องของพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน แม้จะยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอยู่"
"อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้ชี้ว่าไม่มียีนตัวใดตัวหนึ่งที่เป็นยีนเกย์โดยเฉพาะ ดังนั้นการตรวจดีเอ็นเอเพื่อให้ทราบว่าใครจะเป็นเกย์หรือไม่นั้น ไม่สามารถทำได้"
ด้านดร. จารุพล สถิรพงษะสุทธิ นักวิจัยอาวุโสของ 23andMe บอกว่า ผลการศึกษานี้สนับสนุนจุดยืนทางสิทธิมนุษยชนที่ว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องธรรมชาติ และไม่ควรพยายามคิดค้นวิธี "รักษา" หรือแก้ไขความเป็นเกย์ ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใดทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ความเชื่อที่ว่ามี "ยีนเกย์" ซึ่งกำหนดพฤติกรรมรักเพศเดียวกันโดยเฉพาะนั้น มาจากงานวิจัยของ ดร. ดีน แฮเมอร์ นักพันธุศาสตร์ชาวอเมริกันเมื่อปี 1993 ซึ่งพบความเชื่อมโยงระหว่างเครื่องหมายดีเอ็นเอ (DNA marker) บนโครโมโซมเอกซ์ (X) กับพฤติกรรมทางเพศของผู้ชาย แต่ในปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า พันธุกรรมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมทางเพศอย่างจำกัดและซับซ้อนยิ่งกว่านั้น

ข่าว 6 "น้ำเปลี่ยนนิสัย" ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาตรฐานทางศีลธรรมของคนเมา

     เรามักได้ยินข่าวเหตุอาชญากรรมหรือเรื่องของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผู้กระทำผิดมักอ้างว่า "ทำลงไปเพราะเมา" อยู่บ่อยครั้ง จนดูเหมือนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือสาเหตุที่ทำให้มนุษย์มีจิตสำนึกทางศีลธรรมเสื่อมทรามลง
แต่ล่าสุดการทดลองทางจิตวิทยาซึ่งจัดทำโดยทีมนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยพลีมัธของสหราชอาณาจักรชี้ว่า แม้จะอยู่ในสภาพที่เมามายเพียงใด แต่มาตรฐานทางศีลธรรมที่แต่ละคนใช้ตัดสินใจเลือกที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งต่าง ๆ ก็ยังคงเป็นเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนกับตอนที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน
ผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร "จิตเภสัชวิทยา" (Psychopharmacology) โดยระบุว่า ได้ทดลองให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 48 คน ดื่มเหล้าวอดก้าครั้งละ 1 แก้วเล็ก (1 ช็อต) และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ โดยหลังจากดื่มหมดไปแต่ละแก้ว กลุ่มตัวอย่างจะต้องบอกถึงความรู้สึกที่มีต่อภาพใบหน้าบุคคลที่แสดงอารมณ์ต่าง ๆ รวมทั้งต้องตอบคำถามซึ่งใช้การตัดสินใจทางจริยธรรมประกอบด้วย เช่นจะยอมเลือกช่วยชีวิตคนกลุ่มใหญ่ด้วยการฆ่าคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียวหรือไม่
ปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เริ่มมีความเข้าใจอารมณ์ของบุคคลในภาพที่ได้เห็นผิดเพี้ยนไป เมื่อดื่มวอดก้าในปริมาณมากขึ้น โดยมีความรู้สึกเป็นบวกกับภาพใบหน้าที่ดูเศร้าหมอง และรู้สึกเป็นลบกับภาพใบหน้าที่ยิ้มแย้มมีความสุข
แต่อย่างไรก็ตาม ผลการตอบคำถามทางจริยธรรมนั้นพบว่า การตัดสินใจของแต่ละคนนั้นคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงทั้งในตอนที่เมาและในตอนที่สร่าง คนที่ตัดสินใจสังหารคนบริสุทธิ์คนเดียวเพื่อความอยู่รอดของคนหมู่มาก ก็จะยังมีความคิดเหมือนเดิมในตอนที่เมาสุรา ส่วนคนที่ตัดสินใจในทางตรงกันข้ามก็เช่นเดียวกัน
ศาสตราจารย์แคทริน ฟรานซิส ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า "ผลการทดลองในครั้งนี้สอดคล้องกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นในอดีตที่ชี้ว่า การที่คนเรามีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อต้านสังคมมากขึ้นเวลาเมาสุรา อาจเป็นเพราะความสามารถในการตีความสถานการณ์แวดล้อม และการทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนรอบข้างลดต่ำลง ทำให้ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และพร้อมจะก่อเหตุทะเลาะวิวาทหรือล่วงละเมิดกันได้ง่าย"
"ที่จริงแล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่น้ำเปลี่ยนนิสัยอย่างที่เข้าใจกัน แม้ในขณะที่เมามายเราก็ยังคงเป็นคนเดิม ซึ่งแต่ละคนมีจิตสำนึกทางศีลธรรมโดยเนื้อแท้มากน้อยต่างกันไปเหมือนเช่นเดิม เพียงแต่พฤติกรรมที่แสดงออกมาอาจเบี่ยงเบนจากปกติบ้าง เนื่องจากความสามารถในการคิดวิเคราะห์ลดลงเท่านั้น" ศ. ฟรานซิสกล่าว

ข่าว 5 นอนน้อยเพียงคืนละ 4 ชั่วโมงไม่อ่อนเพลีย หากมียีนกลายพันธุ์

     บรรดาคนดังและผู้นำประเทศหลายคน เช่นนายโดนัลด์ ทรัมป์และนางอังเกลา แมร์เคิลต่างเคยกล่าวอ้างว่า ตนเองประสบความสำเร็จได้เพราะทำงานหนักและนอนน้อยมากเพียง 4 ชั่วโมงต่อคืน ทั้งยังบอกว่าพฤติกรรมการนอนแบบนี้ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพแต่อย่างใดด้วย
แม้จะฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานฟรานซิสโก (UCSF) ของสหรัฐฯ รายงานว่าพบยีนกลายพันธุ์ชนิดหายากในกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งยีนนี้จะทำให้เซลล์สมองตื่นตัวได้ง่ายกว่าและยาวนานกว่าคนทั่วไป
ผลการค้นพบดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Neuron โดยทีมผู้วิจัยระบุว่าคนที่มียีน ADRB1 ชนิดกลายพันธุ์ จะต้องการเวลาเพื่อนอนหลับพักผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่าคนทั่วไปโดยเฉลี่ยราว 2 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งหมายความว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถนอนหลับเพียงคืนละ 4 ชั่วโมง และตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยไม่รู้สึกอ่อนเพลีย
กลุ่มผู้มียีนกลายพันธุ์ดังกล่าวซึ่งมีอยู่น้อยมาก ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นคนมีพลังกระฉับกระเฉง ทำงานหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน มองโลกในแง่ดี อดทนต่อความเจ็บปวดได้สูง ไม่มีอาการเจ็ตแล็กจากการโดยสารเครื่องบินข้ามเขตเวลา และอาจจะมีอายุยืนยาวกว่าคนทั่วไปด้วย ปัจจุบันทีมผู้วิจัยพบการถ่ายทอดยีนกลายพันธุ์ดังกล่าวใน 50 สายตระกูลเท่านั้น
มีการทดลองตัดต่อพันธุกรรมให้หนูมียีน ADRB1 แบบที่กลายพันธุ์เช่นเดียวกับในมนุษย์ แล้วพบว่าหนูดังกล่าวจะนอนน้อยลงโดยเฉลี่ยวันละ 55 นาที ซึ่งแสดงว่ายีนกลายพันธุ์ดังกล่าวทำให้วงจรการนอนหลับตามธรรมชาติของคนและสัตว์หดสั้นลง
อดนอนของคนทั่วไป ซึ่งปกติแล้วมักส่งผลเสียต่อระบบเผาผลาญและระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดสมองเสื่อม โรคมะเร็ง รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย
ศาสตราจารย์ ฝู หยิงฮุย ผู้นำทีมวิจัยกล่าวว่า ยังไม่ทราบชัดถึงกลไกการทำงานของยีนกลายพันธุ์ที่ทำให้คนเรานอนน้อยลงได้โดยยังรู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่พบว่าเซลล์ประสาทบางส่วนของหนูทดลองในก้านสมอง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการนอนหลับนั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยจะอยู่ในภาวะที่ตื่นตัวมากกว่าของหนูอื่น ๆ ขณะที่ไม่ได้นอนหลับ
ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยของ ศ. ฝู ได้เคยค้นพบการกลายพันธุ์ของยีน DEC2 ที่ทำให้คนเราสามารถจะนอนน้อยลงจากค่าเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อคืน มาเป็นเพียง 6.25 ชั่วโมงต่อคืนมาแล้ว แต่ยีนกลายพันธุ์ดังกล่าวพบได้ในกลุ่มประชากรจำนวนน้อยมาก
"อาจมีการกลายพันธุ์ของยีนเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่ดีและให้ประโยชน์ แต่มันยังคงไม่แพร่หลายในวงกว้างพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ซึ่งนอน 8 ชั่วโมง เปลี่ยนพฤติกรรมมานอนน้อยลง" ศ. ฝู กล่าว
"ในอนาคตเราอาจผลิตยาที่ทำให้มนุษย์นอนน้อยลงได้แต่มีสุขภาพดีขึ้น หรือพัฒนายาที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอน โดยเลียนแบบกลไกการทำงานของยีนกลายพันธุ์ตัวนี้"

ข่าว 4 วัยรุ่นอังกฤษตาบอด หลังกินแต่มันฝรั่งทอดเป็นอาหารหลายปี

    มีคำเตือนจากแพทย์อังกฤษให้ทุกคนระมัดระวังและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเลือกกินอาหารแบบสุดขั้ว หลังพบว่าวัยรุ่นชายอายุ 17 ปีผู้หนึ่งต้องตาบอดอย่างถาวร หลังเลือกกินแต่มันฝรั่งทอดและขนมกรุบกรอบเป็นอาหารหลักมานานหลายปี
กรณีข้างต้นเป็นรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Annals of Internal Medicine โดยจักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลรักษาโรคตาเมืองบริสตอลระบุว่า วัยรุ่นคนดังกล่าวป่วยเป็นโรคเส้นประสาทตาเสื่อมจากภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากเลือกกินแต่อาหารจำพวกมันฝรั่งทอด เช่นเฟรนช์ฟรายที่ปกติจะรับประทานคู่กับปลาทอดหรือฟิชแอนด์ชิปส์ และมันฝรั่งทอดแผ่นบางในรูปของขนมกรุบกรอบที่มีจำหน่ายทั่วไป
ผู้ป่วยบอกว่ามีพฤติกรรมเลือกกินอาหารแบบนี้มาตั้งแต่เรียนจบชั้นประถมศึกษา เพราะต้องการหลีกเลี่ยงรสชาติและผิวสัมผัสบางอย่างในอาหารที่เขารังเกียจ ทำให้มันฝรั่งทอดและขนมกรุบกรอบกลายมาเป็นอาหารประเภทเดียวที่เขากินได้และมีความรู้สึกอยากจะรับประทานจริง ๆ นอกจากนี้ เขายังกินขนมปังขาวซึ่งทำจากแป้งที่ขัดสีแล้วได้ รวมทั้งกินผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูปอย่างแฮมหรือไส้กรอกบ้างเล็กน้อยนาน ๆ ครั้ง
วัยรุ่นชายผู้นี้มาพบแพทย์ครั้งแรกเมื่อมีอายุได้ 14 ปี โดยบอกว่ามีอาการอ่อนเพลียและไม่สบายที่ไม่ทราบสาเหตุ หลังจากแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าขาดวิตามินบี 12 อย่างรุนแรง และได้ให้วิตามินเสริมไปรับประทาน แต่เขาไม่ยอมทำตามที่แพทย์สั่ง รวมทั้งไม่ปรับปรุงพฤติกรรมการกินอาหารและไม่ยอมกินผักผลไม้เลยแม้แต่น้อย
ดร. เดนิเซ อาทัน แพทย์ผู้ให้การรักษาวัยรุ่นคนดังกล่าวบอกว่า เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอีกครั้งในเวลา 3 ปีต่อมา โดยคราวนี้ดวงตาทั้งสองข้างกำลังมืดมัวลงเรื่อย ๆ ผลการตรวจวินิจฉัยพบว่าเขายังคงขาดวิตามินบี 12 รวมทั้งวิตามินดีและแร่ธาตุสำคัญอื่น ๆ เช่นทองแดงและซีลีเนียม
"แม้ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ผอมหรืออ้วนจนเกินไป แต่ก็มีภาวะขาดสารอาหารอย่างรุนแรง ทั้งยังกระดูกผุเพราะสูญเสียแร่ธาตุจากภายใน ซึ่งถือว่าน่าตกใจสำหรับวัยรุ่นอายุเพียงเท่านี้" ดร.อาทันกล่าว
"มีจุดบอดอยู่ตรงกลางภาพที่เขามองเห็น ซึ่งหมายความว่าเขาจะขับรถไม่ได้ อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ หรือแยกแยะใบหน้าผู้คนได้ลำบาก แต่ยังพอจะเดินเหินไปไหนมาไหนได้ เพราะยังมองเห็นภาพด้านข้างอยู่บ้าง"
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยตัดสินใจมาพบแพทย์ช้าเกินไป ทำให้เส้นใยประสาทในเส้นประสาทตาตายลงและเกิดความเสียหายอย่างถาวรจนไม่อาจจะรักษาได้ ท้ายที่สุดแพทย์จึงวินิจฉัยว่า วัยรุ่นผู้นี้มีอาการเข้าข่ายเป็นคนตาบอดตามเกณฑ์ที่ทางการกำหนดไว้
ดร. อาทันกล่าวเตือนว่า พ่อแม่ผู้ปกครองควรตระหนักถึงอันตรายจากพฤติกรรมเลือกกินของบุตรหลาน และควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยด่วนหากพบพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีพฤติกรรมการกินผิดปกติเช่นนี้อยู่แล้ว ไม่ควรจะวิตกกังวลมากจนเกินไป และควรค่อย ๆ หัดรับประทานอาหารชนิดใหม่ไปทีละน้อย มื้อละอย่างสองอย่าง โดยต้องไม่ฝืนตัวเองจนเครียด
ส่วนผู้ที่เลือกรับประทานอาหารมังสวิรัติหรือวีแกนนั้น หากกังวลว่าจะขาดวิตามินบี 12 ซึ่งส่วนใหญ่มีอยู่ในเนื้อสัตว์ อาจกินอาหารที่มีการเสริมวิตามินบี 12 เป็นพิเศษ เช่นธัญพืชหรือนมถั่วเหลืองบางยี่ห้อ รวมทั้งกินสารสกัดจากยีสต์ด้วย

ข่าว 3 เตือนใช้น้ำยาบ้วนปากหลังออกกำลังกายกระทบความดันโลหิต

      คนที่ต้องการรักษาความสะอาดในช่องปากเป็นพิเศษ มักใช้น้ำยาบ้วนปากหลังการแปรงฟันหรือหลังมื้ออาหาร โดยเชื่อว่าจะช่วยขจัดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นปาก แต่อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยล่าสุดที่พบว่า การใช้น้ำยาบ้วนปากในบางเวลาจะไปทำลายจุลินทรีย์สำคัญที่มีบทบาทช่วยลดความดันโลหิตไม่ให้พุ่งสูงได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพลีมัธของสหราชอาณาจักร ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบาร์เซโลนาของสเปน เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร "การแพทย์และชีววิทยาอนุมูลอิสระ" ( Free Radical Biology and Medicine) โดยระบุว่าแบคทีเรียในช่องปากบางชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายคนเรา มีบทบาทสำคัญต่อการนำส่งออกซิเจนสู่กล้ามเนื้อลาย รวมทั้งควบคุมกลไกที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวจนความดันโลหิตลดต่ำลงหลังออกกำลังกายอีกด้วย








เพื่อพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างแบคทีเรียในช่องปาก กับกลไกควบคุมความดันโลหิตหลังออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพดังกล่าว ทีมผู้วิจัยได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างซึ่งมีสุขภาพแข็งแรง 23 คน โดยให้วิ่งบนสายพานเป็นเวลา 30 นาที ตามด้วยการใช้น้ำยาบ้วนปากในทันทีหลังออกกำลังกายเสร็จกลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่งจะได้รับน้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียได้จริง ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับน้ำยาหลอกซึ่งเป็นเพียงสารละลายรสมินต์เท่านั้น ส่วนขั้นตอนต่อไปมีการวัดความดันโลหิตของกลุ่มตัวอย่างหลังออกกำลังกายและบ้วนปากแล้วในทันที รวมทั้งติดตามวัดผลหลังจากนั้นเป็นระยะในช่วง 30, 60 และ 90 นาทีให้หลังตามลำดับ
ผลปรากฏว่าในช่วงเวลา 1 ชั่วโมงหลังออกกำลังกาย กลุ่มที่ได้รับน้ำยาหลอกมีค่าสูงสุดของแรงดันโลหิต (systolic blood pressure) หรือความดันโลหิตตัวบนลดลงไปโดยเฉลี่ยราว 5.2 มิลลิเมตรปรอท ในขณะที่อีกกลุ่มมีค่าความดันโลหิตตัวบนลดลงจากช่วงออกกำลังกายเสร็จใหม่ ๆ เพียง 2.0 มิลลิเมตรปรอทเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกันถึง 60%
นอกจากนี้ เมื่อถึงเวลาครบ 2 ชั่วโมงหลังออกกำลังกาย กลุ่มที่บ้วนปากด้วยน้ำยาหลอกยังคงมีความดันโลหิตในระดับต่ำ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพที่ได้จากการออกกำลังกายอยู่ต่อไป ในขณะที่อีกกลุ่มซึ่งใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีสัญญาณของความดันโลหิตลดต่ำในลักษณะดังกล่าว
ดร. เครก คัตเลอร์ หนึ่งในทีมผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยพลีมัธอธิบายว่า หลอดเลือดของคนเราจะขยายตัวขึ้นเมื่อออกกำลังกาย เนื่องจากมีการผลิตสารไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระออกมา และสารนี้จะสลายตัวกลายเป็นไนเตรต (NO3-) ในขณะที่ร่างกายเข้าสู่ช่วงพักฟื้นหลังจากนั้น
"แบคทีเรียบางชนิดในช่องปากมีบทบาทสำคัญมากต่อการเปลี่ยนไนเตรทในน้ำลายให้กลายเป็นไนไตรต์ (NO2-) โดยมันจะถูกกลืนและกลับเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อคงการขยายตัวของหลอดเลือดให้ยาวนานออกไป ซึ่งเป็นผลดีต่อระดับความดันโลหิตอย่างมาก" ดร. คัตเลอร์กล่าว
"แต่การใช้น้ำยาบ้วนปากหลังการออกกำลังกายทันที จะไปกำจัดแบคทีเรียที่ดีและขัดขวางไม่ให้กระบวนการนี้เกิดขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกายตามที่ควรจะเป็น"

ข่าว 2 กลับไปที่ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงหลังผ่านไป 15 ปี

    เดวิด ชุกแมน บรรณาธิการข่าววิทยาศาสตร์ของบีบีซี เดินทางกลับไปยังจุดเดิมบนธารน้ำแข็งเซอร์มิลิก ทางใต้ของกรีนแลนด์ ซึ่งเขาเคยไปเยือนเมื่อปี 2004 โดยพบว่า ธารน้ำแข็งนี้บางลง 100 เมตรในช่วงเวลา 15 ปี
ธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ในกรีนแลนด์ละลายมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ และมีสภาพต่างไปจากปี 2004 อย่างมาก
เดวิด ชุกแมน บรรณาธิการข่าววิทยาศาสตร์ อธิบายในการเดินทางเยือนเมื่อปี 2004 ว่า กำแพงน้ำแข็งมหึมาบริเวณธารน้ำแข็งที่เขายืนอยู่ กำลังมีความสูงลดลงที่อัตรา 1 เมตรต่อเดือน
เดวิด กลับไปที่จุดเดิมบนธารน้ำแข็งเซอร์มิลิก และพบว่า มัน "สกปรกอย่างไม่น่าเชื่อ"
"มีรอยขนาดใหญ่แบบนี้หลายรอยดูเหมือนจะเป็นฝุ่น แต่ความจริงมันคือตะกอน มันเป็นมลพิษที่ถูกพัดพามาที่นี่จากโรงไฟฟ้าที่อยู่ห่างไกลออกไป" เขากล่าว
นอกจากนี้ ยังมีสาหร่ายที่เป็นพืชขนาดเล็ก ที่เติบโตในน้ำแข็งช่วงที่น้ำแข็งละลาย พวกมันทำให้พื้นผิวน้ำแข็งเป็นสีดำ และทำให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น
เดวิด เล่าว่า "ย้อนกลับไปในปี 2004 แผ่นน้ำแข็งน่าจะหนากว่าตอนนี้ 100 เมตรได้ มันเหมือนกับตึกสูง 30 ชั้น ตั้งอยู่บนนั้น ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว หายไปรวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ"
ถ้าแผ่นน้ำแข็งทั้งหมดละลายระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 7 เมตร การที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นจะทำให้หลายประเทศ อย่าง อินโดนีเซีย บังกลาเทศและจีน อาจเสียพื้นที่ขนาดใหญ่เพราะจมอยู่ใต้น้ำ
"มันน่าตกใจมากที่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ และทำให้เกิดคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับธารน้ำแข็งนี้ และธารน้ำแข็งอื่น ๆ ในอีก 15 ปีข้างหน้า และนั่นจะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลทั่วโลก" เดวิด กล่าว

ข่าว 1 ไฟไหม้ป่าอเใซอน

    แต่ที่รุนแรงที่สุดและขณะนี้ยังไม่จบคือ กรณีไฟป่าอเมซอน ที่ขณะนี้สถานการณ์ไฟไหม้ย่างเข้าสัปดาห์ที่4แล้ว ด้านความเสียหายนั้น ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดประเมินออกมาเป็นตัวเลข แต่มีการประเมินพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดว่าอยู่ที่ 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร
ยังไม่นับความเสียหายด้านระบบนิเวศน์ของป่า เนื่องจากป่าแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ประเภทต่างๆในสัดส่วนถึง 30% ด้วยกัน ถือเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก อีกทั้งป่าอเมซอนยังมีคุณประโยชน์ต่อโลกที่นับวันจะมีสภาพแวดล้อมแย่ลงเรื่อยๆ ด้วยการเป็นป่าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 2,000 ตัน